บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต คุณสมบัติบัณฑิตคณะบริหารธุรกิจ "ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด อดทน อ่อนน้อมถ่อมตน สามัคคี มีวินัย ใจสาธารณะ"

วันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

พระราชบัญญัติว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสินค้าและบริการที่ผลิต (Product Liability Law)

พระราชบัญญัติว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสินค้าและบริการที่ผลิต (Product Liability Law)
 หลังจากที่มีการพิจารณาและโต้เถียงกันในสภามาเป็นเวลาหลายปี สุดท้ายพระราชบัญญัติว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสินค้าและบริการที่ผลิตก็มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในเมืองไทยเสียที ประเทศที่พัฒนาแล้วเขาตระหนักถึงคุณภาพชีวิตของผู้คน และหน้าที่ของผู้ผลิตซึ่งมีหน้าที่ที่ต้องผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ หลีกเลี่ยงการผลิตสินค้าที่มีปัญหาอันจะนำไปสู่ความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้บริโภค
ผู้ผลิตสินค้าชนิดนั้นไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคได้ถ้าสินค้าที่ผลิตขึ้นมีผลเสียหายต่อผู้บริโภค เขาจึงมีการตรากฎหมายว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสินค้าและบริการที่ผลิตขึ้น (Product Liability Law) ตอนที่เรียนหนังสือในญี่ปุ่นได้เห็นตัวอย่างของ Product Liability Law ที่มีผลบังคับใช้ในญี่ปุ่นแล้ว ทำให้บรรดาผู้ผลิตสินค้าตื่นตัวและแสดงความรับผิดชอบต่อสินค้าที่ผลิตขึ้นเมื่อสินค้าที่ผลิตทำให้ผู้ใช้เกิดความเสียหาย บาดเจ็บ หรือถึงแก่ชีวิต ผู้ผลิตให้ความสำคัญกับการผลิต พยายามควบคุมคุณภาพในการผลิต และเมื่อเกิดความเสียหายเกิดขึ้น ผู้ผลิตแสดงความรับผิดชอบทันที
      กรณีผู้ผลิตรถบรรทุกมิตซูบิชิฟูโซ่รู้ว่าเพลาและคลัชท์ที่ผลิตขึ้นมีปัญหาแต่ก็ไม่รีบเรียกสินค้าคืนส่งผลทำให้เกิดอุบัติเหตุมีผู้เสียชีวิตเมื่อ ๔-๕ ปีก่อน  ทำให้บริษัทเสื่อมเสียชื่อเสียง และขาดทุนมหาศาล กรณีฮีทเตอร์ของบริษัทมัตสุชิตะอิเล็กทริคเป็นต้นเหตุทำให้เกิดไฟไหม้ ผู้ผลิตทำการเรียกสินค้าคืนจากผู้บริโภคทันที หรือกรณีบริษัทซันโยที่ผลิตแบตเตอรี่สำหรับคอมพิวเตอร์แล้วเกิดปัญหาไฟฟ้าลัดวงจร...เขาก็แสดงความรับผิดชอบด้วยการประกาศเรียกคืนสินค้า กรณียางของบริดจสโตนมีปัญหาทำให้รถกระบะของฟอร์ดเกิดอุบัติเหตุแก่ผู้ขับขี่ ผู้บริหารของบริดจสโตนบินไปฟังการประชุมกับตัวแทนของฟอร์ดและชี้แจงข้อเท็จจริงผลของการทดสอบยาง รวมทั้งเรียกสินค้ายางรุ่นที่มีปัญหาออกจากตลาดด้วยความสมัครใจทันที
      กรณีสินค้ามีปัญหาอย่างเดียวกัน  ถ้าเกิดในไทย....แม้ว่าผู้ผลิตสินค้าจะมาจากประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งมี Produt Liability Law บังคับใช้แล้ว แต่ว่าในไทยที่ยังไม่มีกฎหมายตัวนี้บังคับใช้ ผู้ผลิตหลายรายขาดความกระตือรือล้นที่จะควบคุมคุณภาพสินค้าเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาสินค้าทีผลิตออกมาสร้างความเสียหายต่อผู้บริโภค หรือเมื่อผลิตสินค้าออกมาแล้วพบว่ามีปัญหาก็ขาดความกระตือรือล้นที่จะแสดงความรับผิดชอบต่อสินค้าที่ตนเองผลิตขึ้น    เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายบังคับใช้และลงโทษผู้ผลิต แต่ณ.ตอนนี้ที่กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้วในประเทศไทย ผู้ผลิตทุกรายในประเทศไทยหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบต่อสินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นมาไม่ได้แล้ว การที่จะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่สามารถใช้เป็นข้ออ้างได้อีกต่อไป ในฐานะผู้บริโภค การที่มีกฎหมายฉบับนี้ออกมามีผลบังคับใช้ทำให้เราได้รับสิทธิ์คุ้มครองถ้าสินค้าหรือบริการที่เราใช้เกิดปัญหาและสร้างความเสียหายขึ้นแก่ชีวิตและทรัพย์สิน ในฐานะผู้ผลิตมีหน้าที่ต้องควบคุมคุณภาพในการผลิตและการให้บริการอย่างดีที่สุดและหลีกเลี่ยงการผลิตและการให้บริการที่นำมาซึ่งปัญหาต่อผู้บริโภค กฎหมายตัวนี้ในแง่ผู้ผลิต....ผู้ผลิตหลายรายหวาดกลัวมาก เพราะว่ามีความเสี่ยงจากการถูกฟ้องร้องได้ง่ายถ้าสินค้าที่ผลิตขึ้นหรือบริการที่ให้แก่ผู้บริโภคเกิดปัญหาขึ้นมา ถ้าเพียงผู้ผลิตประมาทเลินล่อ ไม่ใส่ใจในการผลิต หรือการให้บริการ ซึ่งความประมาทเลินเล่อเพียงนิดเดียว อันนำมาซึ่งความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้บริโภค ผู้ผลิตไม่สามารถหลีกเลี่ยงความรับผิดได้
   กฎหมายตัวนี้มีคนพยายามให้ครอบคลุมถึงการให้บริการทางการแพทย์ด้วย แต่ทางแพทยสภาพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้กฎหมายตัวนี้ครอบคลุมถึงการให้บริการทางการแพทย์ ถ้ากฎหมายตัวนี้ครอบคลุมถึงการให้บริการทางการแพทย์ เมื่อคนไข้รับการรักษาที่ผิดพลาดจากแพทย์จนทำให้พิการ สูญเสียอวัยวะ หรือถึงแก่ชีวิต แพทย์ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ ทางเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์เห็นด้วยว่ากฎหมายตัวนี้ควรจะครอบคลุมถึงการให้บริการทางการแพทย์ เพราะที่ผ่านมามีจำนวนผู้เสียหายทางการแพทย์จำนวนมากแต่ผู้เสียหายเหล่านั้นไม่ทราบว่าจะไปดำเนินการเรียกร้องความเสียหายจากใคร? เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายคุ้มครอง ตอนนี้มีกฎหมายตัวนี้บังคับใช้แล้ว โฉมหน้าการให้บริการและการควบคุมการผลิตจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ผู้บริโภคที่อยู่ในไทยจะได้รับความคุ้มครองและมั่นใจว่าจะมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นจากการเลือกใช้สินค้าและบริการมากน้อยแค่ไหน? คดีฟ้องร้องความเสียหายจากสินค้าที่ผลิตและให้บริการในไทยจะเพิ่มมากขึ้นแค่ไหน? นับจากนี้ไปเป็นเรื่องที่เราในฐานะคนที่อยู่ในประเทศไทยควรติดตามกันต่อไป

 ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก:http://www.bloggang.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น